Control Cable | TIS Cable

การผลิตส่วนหนึ่งผลิตเพื่อส่งต่อให้บริษัทที่จัดทำสินค้าต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งผลิตเพื่อส่งออกยังต่างประเทศ เป้าหมายของบริษัทคือการเป็นเส้นเลือดของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในการนำส่งพลังงานและสัญญาณต่าง ๆ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าที่ซื้อสายไฟเพื่อประกอบเอง เช่น ตู้คอนโทรล ผู้ผลิตชุดสายไฟหรือปลั๊ก และกลุ่มผู้ผลิตโคมไฟ

      สายไฟถือเป็นสื่อกลางหรือตัวนำกำลังไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไปยังจุดที่ใช้ไฟฟ้า ลักษณะที่สำคัญของสายไฟฟ้าสามารถตรวจสอบได้จากประสิทธิภาพของสายไฟที่ยอมให้กระแสไฟไหลได้สูงสุด โดยต้องไม่เป็นอันตรายต่อสายไฟฟ้า แรงเคลื่อนไฟฟ้าทนได้ขณะใช้งาน และค่าแรงดันไฟฟ้าตกในสาย ทั้งนี้ วัสดุที่ใช้ทำตัวนำไฟฟ้าที่นิยมในปัจจุบันคือ ทองแดงและอะลูมิเนียม

    ในปัจจุบัน มีสายไฟฟ้ามากมายหลายชนิดเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานสายไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นการเลือกใช้สายไฟฟ้าเพื่อให้มีความเหมาะสมปลอดภัย ประหยัด และเชื่อถือได้ จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายประการด้วยกัน ได้แก่ ความเหมาะสม กับสภาพแวดล้อมที่ติดตั้ง ความสามารถในการนำกระแสของตัวนำ ขนาดแรงดันตกที่เกิดขึ้น ความสามารถในการทนต่อความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งในขณะใช้งานปกติและขณะเกิดการลัดวงจร ฯลฯ และนอกเหนือไปจากตัวนำที่เราให้ความสำคัญแล้ว ยังมีตัวฉนวนซึ่งผลิตจากวัสดุประเภทพลาสติกหรือยางต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการใช้งานในสภาวการณ์นั้น ๆ ของสายไฟ ด้วยเหตุนี้การเลือกใช้สายไฟจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในคุณสมบัติของสายไฟนั้น ๆ เพื่อที่จะสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง เต็มประสิทธิภาพ และปลอดภัย

Control Cable

TIS Cable

    สายไฟฟ้าประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนได้แก่ ตัวนำ ฉนวน และเปลือก

   1.ตัวนำ (Conductor) ตัวนำของสายไฟฟ้าทำมาจากโลหะที่มีความนำไฟฟ้าสูง อาจจะอยู่ในรูปของตัวนำเดี่ยว (Solid) หรือตัวนำตีเกลียว (Strand) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวนำเล็ก ๆ ตีเข้าด้วยกันเป็นเกลียว ลักษณะเช่นนี้มีจุดเด่นคือ สามารถนำกระแสต่อพื้นที่ของสายไฟฟ้าได้สูงขึ้น เนื่องจากผลของ Skin Effect ลดลง และการเดินสายสามารถทำได้ง่าย เพราะมีความอ่อนตัวกว่า โลหะที่นิยมใช้เป็นตัวนำใช้ผลิตสายไฟฟ้าได้แก่ ทองแดง และอะลูมิเนียม โดยโลหะทั้งสองชนิดมีจุดเด่นต่างกันไปตามแต่ลักษณะของงาน

   2.ฉนวน (Insulation) ฉนวนของสายไฟฟ้าทำหน้าที่ห่อหุ้มตัวนำ เพื่อป้องกันการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างตัวนำหรือระหว่างตัวนำกับส่วนที่ต่อลงดิน และป้องกันตัวนำจากผลกระทบทางกลและเคมีต่าง ๆ ในระหว่างที่ตัวนำ นำกระแสไฟฟ้าจะเกิดพลังงานสูญเสียในรูปของความร้อน ความร้อนที่เกิดขึ้นจะถ่ายเทไปยังเนื้อฉนวน ความสามารถในการทนต่อความร้อนของฉนวนจะเป็น ตัวกำหนดความสามารถในการทนความร้อนของสายไฟฟ้านั่นเอง การเลือกใช้ชนิดของฉนวนจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิใช้งาน ระดับแรงดันของระบบ และสภาพแวดล้อมในการติดตั้ง

   3.เปลือก (Sheath) เปลือกทำหน้าที่หุ้มแกนหรือหุ้มสายไฟฟ้าชั้นนอกสุด เปลือกของสายไฟฟ้าอาจจะมี 1 หรือ 2 ชั้นก็ได้เพื่อป้องกันความเสียหายทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นในขณะติดตั้งหรือใช้งาน การเลือกใช้ชนิดของเปลือกสายไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการติดตั้ง วัสดุ ที่นิยมทำเป็นเปลือกสายไฟฟ้ามากที่สุด คือ Polyvinyl Chloride (PVC) และ Polyethylene (PE) ส่วนกรณีสายไฟฟ้าที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษก็อาจใช้วัสดุ เช่น Flame Retardant Polyvinyl Chloride (FR-PVC) และ Low Smoke Halogen Free (LSHF) ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะการใช้งานและสภาพแวดล้อมที่ใช้งานสายไฟ